นิเวศวิทยามนุษย์ ---> ทหารกับการพัฒนา---> ป่า---> เมือง ---> ชนบท
วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
บทวิเคราะห์
ทหาร คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ป้องกันประเทศ ธำรงรักษาความมั่นคงของชาติไว้ ถือว่าเป็นสถาบันสำคัญสถาบันหนึ่งซึ่งอยู่คู่กับชาติมาตั้งแต่ก่อกำเนิดขึ้น และเป็นสถาบันที่มีบทบาทอย่างมากต่อความอยู่รอดของประเทศชาติบ้านเมือง
ในปัจจุบันสถานการณ์โลกได้เปลี่ยนแปลงไป โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งแบบการเผชิญหน้าโดยการใช้กำลังห้ำหั่นกันมีแนวโน้มที่จะเกิดน้อยลงขณะที่ได้มีการต่อสู้กันโดยใช้อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมมากขึ้น ทหาร ผู้ที่มีหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติ จึงต้องปรับเปลี่ยนนโยบายกันขนานใหญ่ จากเดิมที่มีภารกิจหลักคือการรักษาความมั่นคงของชาติโดยการใช้กำลังทหาร ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายแบบตรง ก็ได้มีการปรับปรุงหันมาใช้นโยบายโดยอ้อมมากขึ้น อาศัยความร่วมมือกับรัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคง นอกจากเรื่องของการปะทะกันโดยใช้กำลังทหารแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องยาเสพติด การหลบหนีเข้าเมืองอีกด้วย นอกจากนั้นทหารก็ยังได้เพิ่มเติมภารกิจสำคัญอีกภารกิจหนึ่งคือ การมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ ทหารได้เข้าไปทำการพัฒนาทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง เช่น การทำค่ายอาสาพัฒนาชุมชน การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง การจัดตั้งหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่หน่วยทหารพัฒนาให้แก่ประชาชน สังคม นอกจากนี้ทหารยังได้พัฒนาหน่วยของตนเพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานช่วยเหลือประชาชน พัฒนาประเทศ ดังจะเห็นได้จาก การพัฒนาคุณภาพชีวิตกำลังพลในด้านต่างๆ อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าทหารเป็นสถาบันที่สำคัญของประเทศ โดยในปัจจุบัน ได้มีภารกิจเกี่ยวกับการมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการพัฒนาภายในองค์กรทหารเอง ซึ่งส่งผลให้องค์กรหรือสถาบันทหารมีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ สามารถปฏิบัติหน้าที่สำคัญคือ รักษาความมั่นคงของประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน
เขียนโดย jumper ที่ 00:44 0 ความคิดเห็น
องค์ความรู้
๑.ประวัติของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา
นักรบสีน้ำเงิน แห่ง หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เกิดขึ้นเพื่อขจัดความทุกข์ยากของประชาชน เนื่องจาก นับตั้งแต่ ปี ๒๔๘๕ เป็นต้นมา กลุ่มคนที่ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ได้เริ่มแผ่ขยายอิทธิพลเข้าสู่ พื้นที่ชนบทที่ทุรกันดาร โดยอาศัยความอดอยากยากจนของราษฎรเป็นเงื่อนไขในการสร้างความขัดแย้ง ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน อันนำมาซึ่งความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จนถึงกับเริ่มมีการจับอาวุธเข้าปะทะระหว่าง คนไทยด้วยกันเองในช่วงปี ๒๕๐๔ ตรงกับสมัยของ ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี
ต่อมาในวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๐๕ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้พิจารณาเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะทำงาน และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติให้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้น เรียกว่า กองอำนวยการกลาง รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ใช้คำย่อว่า กรป.กลาง และเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๐๕ ซึ่งในขณะนั้น กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้ร่วมพิจารณากำหนดนโยบาย กับมีคณะที่ปรึกษาซึ่ง ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ซึ่งกองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ นี้ มีลักษณะหน่วย เป็นกองอำนวยการผสมระหว่างทหาร ตำรวจ พลเรือน โดยมี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีด้วย) เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๐๕ กรป.กลางก็ได้ส่งหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่หน่วยแรกออกไปพัฒนา และช่วยเหลือประชาชน ที่บ้านนาคู กิ่งอำเภอเขาวง (ปัจจุบันได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอแล้ว) จังหวัดกาฬสินธุ์ซึ่งการปฏิบัติงานพัฒนา และช่วยเหลือประชาชนของทุกหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่นั้น บรรลุผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ชัด ประกอบกับ ยังมีประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารอื่น ๆ ที่ยังรอคอยความช่วยเหลืออีก เป็นจำนวนมาก ดังนั้น กองบัญชาการทหารสูงสุด จึงได้ส่งหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ออกไปปฏิบัติงานพัฒนาและช่วยเหลือประชาชน ในท้องถิ่นทุรกันดาร ในทุกภูมิภาคของประเทศเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนมีจำนวนทั้งสิ้นถึง ๓๐ หน่วย
ต่อมา ได้มีการปรับปรุงการจัดส่วนราชการในกองบัญชาการทหารสูงสุด ตาม พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการ กำหนดหน้าที่ของส่วนราชการ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๓๓ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๓ โดยกำหนดให้ กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด โอนมาเป็นหน่วยขึ้นตรงของกองบัญชาการทหารสูงสุด และเปลี่ยนนามหน่วยเป็น กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ กองบัญชาการทหารสูงสุดแต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ยังคงทำลายความสุขของพี่น้องประชาชนเหล่านั้น ยังคงอยู่ นั่นก็คือ ความยากจน อันถือเป็นหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐจะต้องขจัดทุกข์ของประชาชนให้หมดสิ้นไป กองบัญชาการทหารสูงสุด จึงได้พัฒนาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ของประเทศ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความเข้มแข็งสามารถช่วยเหลือและพัฒนา ตนเองได้ต่อไป จึงได้มีการแก้อัตรา กองบัญชาการทหารสูงสุด ตามคำสั่ง กองบัญชาการทหารสูงสุด (เฉพาะ) ลับ ที่ ๑๖๒/๔๐ ลง ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ ให้มีการเปลี่ยนนามหน่วยจากเดิม กองอำนวยการกลางรักษา ความปลอดภัยแห่งชาติ หรือ กรป.กลาง เป็น หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา หรือ นทพ.
การทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารดีขึ้นนั้น จำเป็นต้องพัฒนาทุก ๆ ด้านพร้อมกันไป ทั้งทางวัตถุและจิตใจ อันเป็นการช่วยเหลือประชาชนตามหลักการพัฒนาชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะ ช่วยเหลือ เพื่อให้ประชาชน ช่วยตนเอง ได้ต่อไป หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จึงได้ดำเนินงานพัฒนา ช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นตาม ๘ แผนงานหลัก เช่นที่เคยปฏิบัติมา ได้แก่ แผนงานสร้างเส้นทางคมนาคม แผนงานส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ แผนงานพัฒนาชุมชนและ สาธารณูปการ แผนงานการสาธารณสุข แผนงานการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม แผนงานการประชาสัมพันธ์และจิตวิทยา และ แผนงานสังคมสงเคราะห์และอื่นๆ ซึ่งนอกจาก ๘ แผนงานหลักข้างต้นแล้ว ยังมีแผนงานเพื่อรองรับภารกิจต่าง ๆ ที่ล้วนมีความสำคัญ อย่างยิ่ง เรียกว่า แผนงานพิเศษ เช่น งานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ โครงการทฤษฎีใหม่ โครงการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โครงการก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย โครงการ บูรณะพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (โครงการแก้มลิง) โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช งานที่ได้รับมอบหมายตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ โครงการน้ำพระทัยจากในหลวงเพื่อพัฒนา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาดอยตุง โครงการปรับปรุงพื้นที่พุทธมณฑล โครงการสวนหลวง ร.๙เป็นต้น
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนามีที่ตั้งปัจจุบัน ณ บริเวณพื้นที่กรมการสื่อสารทหาร แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร
๒. ทรัพยากรน้ำ
น้ำเป็นทรัพยากรที่สามารถเกิดหมุนเวียนได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันหมดสิ้น เมื่อแสงแดดส่องมาบนพื้นโลก น้ำจากทะเลและมหาสมุทรก็จะระเหยเป็นไอน้ำลอยขึ้นสู่เบื้องบนเนื่องจากไอน้ำมีความเบากว่าอากาศ เมื่อไอน้ำลอยสู่เบื้องบนแล้ว จะได้รับความเย็นและกลั่นตัวกลายเป็นละอองน้ำเล็ก ๆ ลอยจับตัวกันเป็นกลุ่มเมฆ เมื่อจับตัวกันมากขึ้นและกระทบความเย็นก็จะกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำตกลงสู่พื้นโลก น้ำบนพื้นโลกจะระเหยกลายเป็นไอน้ำอีกเมื่อได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ไอน้ำจะรวมตัวกันเป็นเมฆและกลั่นตัวเป็นหยดน้ำกระบวนการเช่นนี้ เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรหมุนเวียนต่อเนื่องกันตลอดเวลา เรียกว่า วัฏจักรน้ำทำให้มีน้ำเกิดขึ้นบนผิวโลกอยู่สม่ำเสมอ
ประโยชน์ของน้ำ
น้ำเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตของสัตว์และพืชคนเรามีชีวิตอยู่โดยขาดน้ำได้ไม่เกิน ๓ วัน และน้ำยังมีความจำเป็นทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ประโยชน์ของน้ำ ได้แก่
๑. น้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่เราใช้สำหรับการดื่มกิน การประกอบอาหาร ชำระร่างกาย ฯลฯ
๒. น้ำมีความจำเป็นสำหรับการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ เป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ซึ่งคนเราใช้เป็นอาหาร
๓. ในการอุตสาหกรรม ต้องใช้น้ำในขบวนการผลิตใช้ล้างของเสียใช้หล่อเครื่องจักรและระบายความร้อน ฯลฯ
๔. การทำนาเกลือโดยการระเหยน้ำเค็มจากทะเล
๕. น้ำเป็นแหล่งพลังงาน พลังงานจากน้ำใช้ทำระหัด ทำเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าได้
๖. แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล มหาสมุทร เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญ
๗. ทัศนียภาพของริมฝั่งทะเลและน้ำที่ใสสะอาดเป็นแหล่งท่องเที่ยวของมนุษย์
ปัญหาของทรัพยากรน้ำ ปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้น คือ
๑. ปัญหาการมีน้ำน้อยเกินไป เกิดการขาดแคลนอันเป็นผลเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยลง เกิดความแห้งแล้งเสียหายต่อพืชเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์
๒. ปัญหาการมีน้ำมากเกินไป เป็นผลมาจากการตัดไม้มากเกินไป ทำให้เกิดน้ำท่วมไหลบ่าในฤดูฝน สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน
๓. ปัญหาน้ำเสีย เป็นปัญหาใหม่ในปัจจุบัน สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำเสีย ได้แก่
๓.๑ น้ำทิ้งจากบ้านเรือน ขยะมูลฝอยและสิ่งปฎิกูลที่ถูกทิ้งสู่แม่น้ำลำคลอง
๓.๒ น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
๓.๓ น้ำฝนพัดพาเอาสารพิษที่ตกค้างจากแหล่งเกษตรกรรมลงสู่แม่น้ำลำคลอง
น้ำเสียที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลเสียหายทั้งต่อสุขภาพอนามัย เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และมนุษย์ ส่งกลิ่นเหม็น รบกวน ทำให้ไม่สามารถนำแหล่งน้ำนั้นมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งการอุปโภค บริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม
ผลกระทบของน้ำเสียต่อสิ่งแวดล้อม
๑. เป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อโรค เช่น อหิวาตกโรค บิด ท้องเสีย
๒. เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงนำโรคต่าง ๆ
๓. ทำให้เกิดปัญหามลพิษต่อดิน น้ำ และอากาศ
๔. ทำให้เกิดเหตุรำคาญ เช่น กลิ่นเหม็นของน้ำโสโครก
๕. ทำให้เกิดการสูญเสียทัศนียภาพ เกิดสภาพที่ไม่น่าดู เช่น สภาพน้ำที่มีสีดำคล้ำไปด้วยขยะ และสิ่งปฎิกูล
๖. ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่น การสูญเสียพันธุ์ปลาบางชนิดจำนวนสัตว์น้ำลดลง
๗. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในระยะยาว
การอนุรักษ์น้ำ
ดังได้กล่าวมาแล้วจะเห็นว่า น้ำมีความสำคัญและมีประโยชน์มหาศาล เราจึงควรช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเสียหรือการสูญเสียทรัพยากรน้ำด้วยการอนุรักษ์น้ำ ดังนี้
๑. การใช้น้ำอย่างประหยัด การใช้น้ำอย่างประหยัดนอกจากจะลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าน้ำลงได้แล้ว ยังทำให้ปริมาณน้ำเสียที่จะทิ้งลงแหล่งน้ำมีปริมาณน้อย และป้องกันการขาดแคลนน้ำได้ด้วย
๒. การสงวนน้ำไว้ใช้ ในบางฤดูหรือในสภาวะที่มีน้ำมากเหลือใช้ควรมีการเก็บน้ำไว้ใช้ เช่น การทำบ่อเก็บน้ำ การสร้างโอ่งน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ รวมทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำ และระบบชลประทาน
๓. การพัฒนาแหล่งน้ำ ในบางพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ จำเป็นที่จะต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถมีน้ำไว้ใช้ ทั้งในครัวเรือนและในการเกษตรได้อย่างพอเพียง ปัจจุบันการนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้กำลังแพร่หลายมากขึ้นแต่อาจมีปัญหาเรื่องแผ่นดินทรุด
๔. การป้องกันน้ำเสีย การไม่ทิ้งขยะและสิ่งปฎิกูลและสารพิษลงในแหล่งน้ำ น้ำเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ควรมีการบำบัดและขจัดสารพิษก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ
๕. การนำน้ำเสียกลับไปใช้ น้ำที่ไม่สามารถใช้ได้ในกิจการอย่างหนึ่งอาจใช้ได้ในอีกกิจการหนึ่ง เช่น น้ำทิ้งจากการล้างภาชนะอาหาร สามารถนำไปรดต้นไม้ได้
เขียนโดย jumper ที่ 00:43 0 ความคิดเห็น
ประวัติย่อผู้จัดทำ
ชื่อ-สกุล นนร. เทพภินันท์ ธรรมเจริญ
ชั้นปีที่ ๒ กองพันที่ ๓ กองร้อยที่ ๓
ตอน สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา เลขที่ ๓
เกียรติประวัติ โล่รางวัลวิชาทหารดีเด่นลำดับที่ ๓
เหรียญรางวัลการศึกษาดีมาก (เหรียญเงิน)
อาจารย์ผู้รับผิดชอบ ร.ท. ฐนัส มานุวงศ์
เขียนโดย jumper ที่ 00:43 0 ความคิดเห็น